วันนี้ “ แพทย์จีนฐานิศา ติลกโชติพงศ์ ” แพทย์จีนประจำศูนย์การแพทย์แผนจีนพุทธเมตตาถังหมิง แพทย์จีนปฏิบัติการรักษาโรคซึมเศร้า ได้มาแนะนำอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการรักษา จะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกันได้เลยค่ะ
ทำไมช่วงนี้หลายคนถึงเป็นซึมเศร้า?
“ โรคซึมเศร้า ถือเป็นความผิดปกติด้านอารมณ์ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายๆ คนมีสภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่จากการหวาดกลัว หรือการเจ็บป่วย เศรษฐกิจ การทำงาน การใช้ชีวิตคู่และครอบครัว เมื่อภาวะความเครียดเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดและนำชีวิตดิ่งลงจนประสบกับภาวะซึมเศร้าได้”
คนไข้ส่วนใหญ่ที่เข้ามารักษาอายุประมาณเท่าไหร่?
“ จริงๆ แล้วมีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีอาการมาแล้วประมาณ 1 ปี และมักเป็นกลุ่มคนไข้ที่เคยรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อน รวมทั้งคนไข้ยังมีการปรับเปลี่ยนยาจนรู้สึกว่า ทำอย่างไรก็ยังไม่หาย เลยอยากลองวิธีการรักษาแบบธรรมชาติ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนดู”
การรักษาของแผนจีนต่างจากแผนปัจจุบันไหม?
“ แพทย์จีนกับแพทย์แผนปัจจุบันจะมีการรักษาที่ค่อนข้างแตกต่างกัน สำหรับแพทย์แผนจีนจะมองคนไข้โดยพิจารณาจากองค์รวมทั้งหมด ใช้เวลารักษาโดยรวมประมาณ 3-6 เดือน เริ่มวินิจฉัยโรคตั้งแต่การพูดคุยสอบถามอาการ ฝังเข็มเพื่อกระตุ้นระบบประสาท และปรับสมดุลร่างกาย เพื่อให้ร่างกายคนไข้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุลและค่อยๆ ฟื้นฟูจนกระทั่งสามารถหายได้เอง”
“ ยกตัวอย่างเคสผู้ป่วยหญิงซึมเศร้าที่เกิดจากภาวะม้ามและหัวใจพร่อง ในทางแพทย์จีนม้ามจะสัมพันธ์กับอารมณ์อ่อนไหวและคิดมาก เมื่อม้ามพร่อง อารมณ์ก็จะอ่อนไหวได้ง่ายกว่าปกติ สร้างเลือดได้น้อยลงทำให้มีอาการ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ใจสั่น ร่วมด้วย ซึ่งเคสนี้ในทางแพทย์แผนจีนก็เริ่มจากการปรับสมดุลม้ามและหัวใจเป็นหลักร่วมกับการรักษาอาการอื่นๆ เช่น ถ้ามีอาการเครียดลงกระเพาะ ก็จะใส่ยาโรคกระเพาะร่วมกับยาปรับสมดุลไป ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละรายจึงจะได้รับประทานยาที่ไม่เหมือนกัน”
ฝังเข็มนี่ฝังยังไง ยาจีนทานยากไหม?
“ ฝังเข็มส่วนใหญ่ก็จะฝังบริเวณศีรษะ แขนและขา เข็มที่ใช้จะเป็นเข็ม Dry Needling ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ซึ่งมีขนาดเล็กและบางมาก เวลาฝังลงไปจึงแทบจะไม่มีความรู้สึกเจ็บ ในส่วนของยาก็จะปรับให้ตามสภาวะร่างกายของคนไข้ ยาที่ศูนย์ใช้ก็จะเป็นแบบผงชงดื่ม ค่อนข้างสะดวกและรับประทานง่าย ผู้ป่วยแต่ละคนจะได้ยาที่เป็นตำรับสูตรเฉพาะบุคลตามที่หมอสั่งจ่าย ทั้งนี้อาจจะต้องมีการปรับยากันทุกๆ สัปดาห์ เพื่อติดตามอาการและพูดคุยถึงความเป็นไปของโรค”
เคสที่รักษายากที่สุด?
“ สำหรับหมอเคสที่รักษายากคือเคสที่ไม่ยอมเปิดใจรักษามากกว่าค่ะ หมอจึงอยากแนะนำว่าใครก็ตามที่มีเริ่มอาการหรือรู้สึกว่ามีภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นเรื้อรังควรจะรีบปรึกษาแพทย์ เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไรยิ่งมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเร็วมากขึ้นเท่านั้น ให้คิดเสียว่าภาวะที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่เป็นเพียงภาวะหนึ่งของร่างกายที่เสียสมดุลไป ทุกอย่างสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ขอเพียงเปิดใจและสู้ไปกับมัน “ โรคซึมเศร้า ไม่ได้น่ากลัวอย่างคิด”