ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าส่วนใหญ่มักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือถ้าหากเป็นถึงขั้นรุนแรงก็จะมีอาการต่างๆ ติดตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น การนอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ในส่วนนี้อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว

“แพทย์จีนวสวัตติ์ ชัยวิรัตน์” คุณหมอที่มีความชำนาญเฉพาะทางในเรื่องของยาสมุนไพรจีน และการฝังเข็มรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งคุณหมอจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง มาติดตามกันได้เลยค่ะ

ลักษณะ และสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่เกิดจากอะไร?

“เนื่องด้วยสภาพของสังคม และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คนค่อนข้างมากจนทำให้เกิดภาวะความเครียด โดยอาการเริ่มแรกอาจจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ เมื่อได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือการทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเครียดได้ แต่เมื่อความเครียดสะสมมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดหัวไมเกรน หรือ อาการประจำเดือนมาไม่ปกติในผู้หญิง อาการเหล่านี้จะเป็นอาการเริ่มแรกก่อนที่จะนำพาไปสู่อีกระดับซึ่งคือ สภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีอาการดาวน์ลงเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่อยากทำอะไร และไม่อยากเข้าสังคมนั่นเองครับ”

ความแตกต่างของแพทย์จีนกับแพทย์ปัจจุบันในการรักษาโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร?

“ส่วนใหญ่การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันจะรักษาด้วยการจ่ายยาประเภทกดประสาท ช่วยให้คนไข้ผ่อนคลาย และระงับอารมณ์ หากมีอาการนอนไม่หลับก็จะจ่ายยานอนหลับเพิ่มให้ด้วย เรื่องของยาก็มีหลายชนิดครับ คุณหมอเลยต้องทดสอบประสิทธิภาพของยาแต่ละตัวกับคนไข้เพื่อเลือกตัวที่เหมาะสมที่สุด ถ้าผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น คนไข้ก็สามารถขอเปลี่ยนยาได้ เรียกได้ว่าจะมีการปรับยาไปเรื่อยๆ ครับ”

“สำหรับแพทย์แผนจีนจะมองคนไข้โดยพิจารณาจากองค์รวมทั้งหมด ใช้เวลารักษาโดยรวมประมาณ 3-6 เดือน เริ่มวินิจฉัยโรคตั้งแต่การพูดคุยเบื้องต้น ฝังเข็มเพื่อกระตุ้นระบบประสาท และให้ยาแบบรายอาทิตย์เพื่อปรับสมดุลร่างกาย โดยการฝังเข็มส่วนใหญ่จะฝังบริเวณศีรษะ และหน้าผาก ประมาณ 10-15 เข็ม ส่วนยาก็จะมีการปรับให้ทุก ๆ 7 วันเพื่อให้คนไข้เข้าสู่สภาวะที่สมดุล”

“ผมขอยกตัวอย่างในกรณีที่คนไข้บางรายอาจมีความร้อนในหัวใจสูง ก็ต้องลดความร้อนในหัวใจลง ถ้าเครียดลงกระเพาะก็ต้องให้ยาโรคกระเพาะเพื่อปรับสมดุล บางคนก็มีอาการไมเกรน บางคนอาจมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งอาการของโรคจะแตกต่างกันออกไปทำให้การจ่ายยาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การรักษาของคนไข้แต่ละคนจะไม่เหมือนกันครับ

อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ต้องติดตาม และเฝ้าระวัง เพราะความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คนไข้อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และความคิดเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่สร้างแรงกระตุ้น และช่วยไม่ให้โรคกลับมาอีก”

กลุ่มคนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มไหน และระยะที่เริ่มการรักษาจะอยู่ในระดับใด?

“กลุ่มคนไข้ส่วนมากเป็นเพศหญิงครับ สำหรับการรักษาส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอาการมาแล้วประมาณ 1 ปี และมักเป็นกลุ่มคนไข้ที่เคยรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อน รวมทั้งคนไข้ยังมีการปรับเปลี่ยนยาจนรู้สึกว่า ทำอย่างไรก็ยังไม่หาย เลยอยากลองวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนจีนบ้าง”

คุณหมอเคยเจอเคสการรักษายากบ้างไหม?

“เคยเจออยู่ท่านหนึ่งครับ คนไข้ท่านนี้ต้องการมารับการรักษาฝังเข็มแก้อาการออฟฟิศซินโดรมทั่วไปเท่านั้น แต่ภายหลังเมื่อคุณหมอซักถามถึงอาการต่างๆ ก็วินิจฉัยได้ว่า มีอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งในตอนนี้คนไข้ท่านนี้ก็มีอาการบรรเทาลงหลังจากเข้ารักษาเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน และถึงแม้จะมีอาการดีขึ้นมากแล้ว แต่หมอก็ยังต้องดูแล ติดตามอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การให้ยาบำรุงเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ และให้คำปรึกษาเมื่อมีความเครียดเข้าช่วยครับ”

“สำหรับคนไข้ที่มีเริ่มอาการหรือรู้สึกว่ามีภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง ควรจะรีบปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนจีน ยิ่งรักษาเร็วเท่าไรยิ่งมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเร็วมากขึ้นเท่านั้น ขอเพียงกำ ลังใจและยอมเปิดใจที่จะเข้ารับการรักษา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียง“ภาวะ”เท่านั้น มิใช่โรคร้าย”

ศูนย์การแพทย์แผนจีน รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น
Foci-Tamgming Chinese medicine Center

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ นัดคิว
โทร 095-4736341, 02-910-1600 ต่อ 8501,8502
เปิดทำการ ทุกวัน 9.00 - 18.00