การเรียนออนไลน์ในยุคโควิด ถือเป็นมาตรการลดโอกาสการติดเชื้อ และให้เด็กได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง การเรียนออนไลน์มีทั้งข้อดีข้อเสีย ดังนั้นจึงทำให้เด็กที่อยู่ในวัยเรียนต้องปรับตัวอย่างมาก จนส่งผลต่อสภาพจิตใจ ความกังวลและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในเด็ก
เมื่อมาตรการการเรียนออนไลน์ออกมา ในบางครอบครัวไม่มีความพร้อมในเรื่องอุปกณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง เรียนตามเพื่อนไม่ทัน พ่อแม่หรือในครอบครัวมีเด็กหลายคน ช่วงอายุที่แตกต่างกัน ทำให้แบ่งเวลาในการดูแลไม่ได้ ความตั้งใจของการเรียนที่บ้านกับที่โรงเรียนต่างกัน ที่โรงเรียนคุณครูคอยดู สอนเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่เข้าใจถามได้เลย เด็กก็จะตั้งใจมากขึ้น แต่การเรียนผ่านจอเด็กไม่ค่อยตั้งใจเท่าที่ควร เพราะมีสิ่งเร้ารอบตัวเบี่ยงเบนความสนใจ และผู้ปกครองไม่สามารถช่วยอธิบายการบ้านให้เด็กได้
หรือในเด็กเล็กการเรียนหรือได้เล่นกับเพื่อนจะสนุกมากกว่า มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวมากกว่า การเรียนรู้ก็จะพัฒนาเร็วกว่า หรือแม้แต่การสั่งงาน สั่งการบ้าน ที่มากกว่าการเรียนในโรงเรียน เด็กบางคนจัดการได้ดี แต่เด็กบางคนทำไม่ทัน ไม่เข้าใจ ประสิทธิภาพเรื่องการเรียนลดลง นำไปสู่ความกดดัน คิดมาก กังวลใจ หรืออาจจะติดเกม เพราะเบื่อการเรียนและทิ้งการเรียนไปเลย
ไม่ว่าเด็กคนไหนก็อยากเป็นเด็กที่เก่งในสายตาของพ่อแม่เสมอ การพูดเปรียบเทียบลูกตัวเองกับเด็กคนอื่น สำหรับผู้ใหญ่อาจจะพูดเพื่อเป็นแรงผลักดัน แต่สำหรับเด็กคือแรงกดดัน ยิ่งกดดัน ยิ่งตั้งความหวังสูงเท่าไหร่ เมื่อไม่เป็นตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้จะยิ่งให้เด็กคิดมาก เป็นซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น
ดังนั้นบุคคลแรกที่ต้องพยายามเข้าใจเด็กคือผู้ปกครอง พ่อแม่ การถูกเพิกเฉย ปล่อยปะละเลยส่งผลให้เด็กรู้สึกไร้ที่พึ่ง ยิ่งเมื่อเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ยิ่งต้องเข้าใจ ใส่ใจและเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับเด็กอยู่เสมอ อย่ามองข้ามหรือมองว่าเรื่องเรียนออนไลน์หรือเรื่องอื่นๆ ของเด็ก เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้
บทความโดย แพทย์จีน ปิยพัชร์ วีรนนท์บุรภัทร (พจ.1379)